วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

คุณสมบัติและประโยชน์ของหญ้าแฝก

คุณสมบัติและประโยชน์ของหญ้าแฝก
คุณสมบัติของหญ้าแฝก
1. เป็นหญ้าที่ทนทาน ปลูกง่าย ขึ้นได้ดีทั้งในดินดีและดินเลว แม้กระทั่งในดินที่เป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินด่าง ดินทราย หรือดินปนลูกรัง
2. หญ้าแฝก เจริญเติบโตเป็นกอแน่น โดยการแตกอย่างรวดเร็ว เส้นผ่าศูนย์กลางกอประมาณ 30 เซนติเมตร
3. รากของหญ้าแฝกมีความยาวมาก และหยั่งลึกลงดินในแนวดิ่งได้ถึง 3 เมตร ช่วยในการดูดซับน้ำและกักน้ำไว้ในดิน
4. รากไม่เจริญออกทางด้านข้าง จึงไม่แย่งอาหารของพืชหลักทที่ปลูกใกล้เคียง
5. รากมีจำนวนมากสานกันแน่นหนาเหมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน ทำหน้าที่ยึดดินได้อย่างแน่หนา และแข็งแรง ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
6. รากหญ้าแฝกช่วยในการดูดซับสารเคมีก่อนที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพดี
7. หญ้าแฝกปลูกริมขอบสระหรือแหล่งน้ำ จะสานกันเป็นแนวรั้ว ช่วยกรองเศษพืช ตะกอนดิน สิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ
8. ตะกอนที่หญ้าแฝกดักไว้ มีแร่ธาตุสะสมไว้กลายเป็นปุ๋ยช่วยฟื้นฟูและบำรุงดิน
9. หญ้าแฝกช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินได้อย่างยาวนาน
10. หญ้าแฝกช่วยป้องกันการช่วยชะลอแรงปะทะ และการชะล้างหน้าดินของน้ำที่ไหลบ่า
ประโยชน์ของหญ้าแฝก
- ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา
- กรองเศษพืชและตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้
- ทำวัสดุมุงหลังคา
- วัสดุดิบทำกระดาษ
- ทำเชือก, เสื่อ, หมวก, ตะกร้า, ฯลฯ
- ใช้เป็นอาหารสัตว์พวก แกะ โค กระบือ ฯลฯ
- ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน, ใช้รองคอกสัตว์
- ทำวัสดุเพาะเห็ด ทำปุ๋ยหมัก
- ดูดซับน้ำและรักษาความชุ่มชื้นในดิน
- ดูดซับแร่ธาตุ อาหาร/สลายกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินทำให้ดินร่วนซุย
- ดูดซับสารพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
- ช่วยทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น
- ทำฉาก, ม่านตา, พัด, กระเป๋าถือ
- สมุนไพรและเครื่องประทินผิว
- กลั่นทำน้ำหอม, ส่วนผสมของสบู่
- ป้องกันแมลงและหนู
การใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์หน้าดินและน้ำ ทำได้หลายรูปแบบ
- พื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวาง ไล่เป็นชั้นลดหลั่นไปตามความลาดชันของพื้นที่ หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลม แหงนรับความลาดเทของพื้นที่รอบต้นไม้แบบฮวงซุ้ย เพื่อลดความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดิน โดยจัดให้มีจำนวนแนวแถวที่เหมาะสม ปลูกต้นให้ชิดติดกัน เพื่อให้หญ้าแฝกทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พื้นที่ราบ การปลูกหญ้าแฝกในสภาพพื้นที่ราบ เพื่อตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้น้ำใต้ดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ หมุนเวียนธาตุอาหารที่อยู่ในดินชั้นล่างขึ้นมาสู่ดินชั้นบน เป็นการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม สามารถปลูกตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบร่วมกันก็ได้ เช่น ปลูกเป็นแถว รูปครึ่งวงกลมและวงกลม เป็นต้น
- พื้นที่วิกฤต การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่ง่ายต่อการชะล้างพังทลาย ได้แก่ ขอบบ่อน้ำหรือสระน้ำที่ขุดใหม่ ไหล่ถนน รอยต่อของผิวน้ำกับแนวป่าที่อยู่เหนือเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ แนวร่องน้ำข้างถนน พื้นที่ภูเขาและพื้นที่ที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นร่องลึก ฯ
การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่วิกฤต ต้องปลูกต้นหญ้าแฝกให้ชิดติดกัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นรูปตัววีคว่ำ แล้วปลูกต่อเป็นแนวยาวไปตามเส้นชั้นความสูงในลักษณะก้างปลา โดยมีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวดิ่ง 1 เมตร เพื่อชะลอการกัดเซาะร่องน้ำและกระจายน้ำให้ไหลลึกซึมลงไปในดินหน้าแนวหญ้าแฝก หรือปลูกเป็นแนวตรงขวางทางน้ำ เพื่อช่วยต้านแรงปะทะของน้ำไหลบ่า และกรองตะกอนดินทับถมไว้
ภาพจาก : หนังสือการ์ตูน ปฏิบัติการชุมชนรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ
มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมมือ กรมป่าไม้ และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ขยายผลเครือข่ายจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ
วันนี้ (7 มีนาคม 2560) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย กรมป่าไม้ โดย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (อบจ.) โดย นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมม...ือ “การพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ” เพื่อเทิดด้วยทำ น้อมเกล้าถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลตรีผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข รองแม่ทัพภาคที่ 3 และ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุม 101 อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 พร้อมดำเนินงานสนับสนุนและพัฒนาให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ลงมือทำอย่างมีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย และพร้อมพัฒนาขยายผลอย่างต่อเนื่อง ในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ
ในวันนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทั้งในแผนระดับชุมชน จังหวัด และระดับประเทศ เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน นำไปสู่เครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ ก่อนพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ยังได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ “ตัวอย่างความสำเร็จการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ” ระหว่างชุมชนเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น